วันพุธที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

ทุกวันนี้เราทุกคนตื่นตัวกันเรื่องโลกร้อน แต่ยังคงใช้ชีวิตเหมือนกับว่าชีวิตของเราถูกออกแบบมาเพื่อรองรับความสบายจนเกินไปนัก
ถุงพลาสติกจาก 7-11 รึว่าขวดพลาสติกต่าง ๆ รถยนต์ที่ปล่อยแต่ความดำ เรานี้คือต้นเหตุ แต่หลาย คน ยังไม่ให้ความร่วมมือในการดูแลเท่าที่ควร

วันอังคารที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2550

ร่วมกันคัดค้านการสร้างหอดูดาวบนยอดดอยอินท์

ตามที่ทางสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้เสนอในมีการก่อสร้างอาคารหอดูดาวแห่งชาติและศูนย์บริการข้อมูลสารสนเทศและฝึกอบรมดาราศาสตร์ ณ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ โดยขออนุมัติ ผ่อนผัน จากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ใช้พื้นที่ก่อสร้างในเขตอุทยานแห่งชาติและเขตพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ 1 เอ โดยจะอนุมัติให้เริ่มก่อสร้าง เมื่อโครงการผ่าน การจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ที่ยื่นต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ สำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) แล้วนั้น ชมรมอนุรักษ์นกและธรรมชาติล้านนา ขอแสดงความห่วงใยและความคิดเห็นถึงผลกระทบ จากการก่อสร้างอาคารหอดูดาว ที่บริเวณหน่วยพิทักษ์ยอดดอย อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ดังนี้
1. ปัจจุบันกิจกรรมของมนุษย์ (การท่องเที่ยวและการรักษาความมั่นคงของชาติ) บนพื้นที่แคบๆ บนบริเวณยอดดอยเกินขีดจำกัดความสามารถของการรองรับของพื้นที่( Carrying Capacity) อยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาเรื่องการใช้น้ำ เนื่องจากเป็นจุดสูงสุด จึงไม่สามารถนำน้ำจากลำธารตามธรรมชาติมาใช้ แต่ต้องอาศัยน้ำสะสมใต้ดินที่มีอยู่ไม่มาก ซึ่งโดยส่วนใหญ่มาจากบริเวณป่าพรุพื้นที่ชุ่มน้ำอ่างกา พื้นที่ชุ่มน้ำอ่างกานี้ นับเป็นระบบนิเวศป่าพรุบนเขาสูงที่มีเอกลักษณ์พิเศษจำเพาะ ที่มีเพียงแห่งเดียวของประเทศ เป็นถิ่นอาศัยของพืชสัตว์เฉพาะถิ่นหายากหรือมีสถานะภาพใกล้สูญพันธุ์หลายชนิด อาทิ เช่น ข้าวตอกฤษี นกเดินดงเล็กปากยาว (Zoothera marginata) นกปากซ่อมดง (Scotopax rusticola) ตัวตุ่น (Talpa micrura leucura) ปาดดอยอินทนนท์ (Rhacophorus feae) อึ่งกรายดอยอินทนนท์ (Leptolalax bourreti) และกบตาหนามอินทนนท์ (Megophyrys sp) ที่มีรายงานพบที่นี้เพียงแห่งเดียว อย่างไรก็ตามในช่วงที่ผ่านมา การสูบน้ำจากบริเวณพรุอ่างกาไปใช้ โดยไม่มีการวางแผนและการควบคุม ส่งผลกระทบ ต่อพื้นที่ชุ่มน้ำดังกล่าวให้แปรสภาพตื้นเขินขึ้นเป็นอย่างมาก จนครั้งหนึ่งทางอุทยานฯเคยปิดการใช้ห้องน้ำบนยอดดอยไป แต่ต้องกลับมาเปิดให้อีกครั้งในปัจจุบันเพื่อสนองความต้องการนักท่องเที่ยว หากมีการสร้างหอดูดาวขึ้นในบริเวณยอดดอย ระหว่างก่อสร้างและการใช้งานจริง จะมีกิจกรรมที่ต้องใช้น้ำอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อระดับน้ำใต้ดินและน้ำในพรุอ่างกา ทำให้ระบบนิเวศที่ประสพปัญหาอย่างหนักอยู่แล้วในปัจจุบัน เสื่อมโทรมลงไปอีกจนอาจเกินแก้ไข

2. พื้นที่บริเวณยอดดอย เป็นระบบนิเวศป่าดิบเขาสูง (High montane tropical forest) หรือป่าเมฆ (cloud forest) ที่อาศัยความชุ่มชี้นที่ได้จากเมฆเป็นปัจจัยกายภาพสำคัญในการดำรงสภาพ ระบบนิเวศดังกล่าวมีความเปราะบางอย่างยิ่งต่อผลกระทบจากการก่อสร้างและกิจกรรมมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันมีงานวิจัยจากทั่วโลกที่แสดงให้เห็นผลกระทบของภาวะโลกร้อนต่อระบบนิเวศป่าดิบเขาสูง อุณหภูมิที่สูงขึ้นส่งผลต่อฐานก่อตัวของเมฆให้เกิดในระดับความสูงที่สูงขึ้น ลดอัตราการกลั่นตัวของเมฆ เพิ่มอัตราการระเหยของน้ำและลดความชื้นของดิน การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเฉพาะถิ่น (microclimate) บนยอดดอยนี้ส่งผลให้ป่าบนยอดดอยแห้งแล้งขึ้น เฟิร์น มอส และพืชอิงอาศัยแห้งตาย ต้นก่อและต้นกุหลาบพันปีตายยืนต้น ปรากฏเป็นบริเวณกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งริมถนน ริมอาคาร และพื้นที่เปิดโล่ง แม้การก่อสร้างอาคารจะไม่ตัดต้นไม้ใหญ่เพิ่มเติมมากนัก หากจะส่งผลกระทบต่อภูมิอากาศเฉพาะถิ่น และเนื่องจากป่าดิบเขาสูงเป็นป่าที่ฟื้นตัวได้ช้า จึงมีความเปราะบางสูงหากมีการทำลายทั้งทางตรงและทางอ้อม Reference: Earth-Science Reviews Volume 55, Issues 1-2, October 2001, Pages 73-106 (ดูรูป1,2)

3. แม้แบบแปลนการก่อสร้างจะใช้พื้นที่ส่วนใหญ่ของอาคารหน่วยพิทักษ์ยอดดอยและร้านค้าสวัสดิการที่มีอยู่เดิมแล้ว แต่ก็มีความจำเป็นต้องขยายพื้นที่บางส่วนและปรับภูมิสถาปัตย์เพิ่มเติม การสูญเสียพื้นที่สีเขียวแม้เพียงเล็กน้อยนี้คิดเป็นสัดส่วนจำนวนมากของพื้นที่ระบบนิเวศจำเพาะที่ระดับความสูงเกินกว่า 2,500 เมตรจากระดับน้ำทะเล ที่มีอยู่ในประเทศไทย ไม้พุ่มและสวนดอกไม้ในบริเวณดังกล่าว ปัจจุบันยังเป็นสถานที่ที่ดีสุด ที่นักท่องเที่ยวสามารถเห็นและศึกษาพฤติกรรมนกหายากหลายชนิด เช่น นกกินปลีหางยาวเขียว ชนิดย่อยอ่างกา (เฉพาะถิ่น) (Aethopyga nipalensis angkaensis) นกกระทาดงคอสีแสด (Arborophila rufogularis) นกพิราบเขาสูง (Columba pulchricollis) และนกศิวะหางสีตาล (Minla strigula) และนกกระรางหัวแดง (Garrulax erythrocephalus) ได้อย่างใกล้ชิด
4. การก่อสร้างโดยเฉพาะการปรับพื้นที่และการวางฐานราก ตอกเสาเข็มจะก่อให้เกิดมลพิษทางเสียง ฝุ่น และขยะ มีผลกระทบต่อสัตว์ป่า และนกเฉพาะถิ่นที่อาศัยบริเวณยอดดอย
5. อาคารหอดูดาวเป็นอาคารทรงสูง ทำให้เป็นทัศนอุจจาด ไม่กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมธรรมชาติโดยรอบ อีกทั้งยังอยู่ใกล้กับสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เนื่องจากเป็นที่ประดิษฐานของพระสถูปของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 7 อันเป็นที่เคารพสักการบูชาของชาวล้านนา จึงไม่สมควรก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ในบริเวณใกล้เคียง
6. ในด้านความเหมาะสมในเชิงดาราศาสตร์ แม้จะตั้งอยู่บนจุดสูงสุด ซึ่งเอื้อกับทัศนวิสัยที่ดี ณ จุดจอมฟ้า แต่มีต้นไม้ใหญ่โดยรอบจึงไม่สามารถเห็นท้องฟ้าได้เป็นบริเวณกว้าง นอกจากนี้ จุดที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงกับสถานีเรดาห์ของกองทัพอากาศ ซึ่งมีการเปิดไฟสว่างไสวทั้งคืน ย่อมมีมลภาวะทางแสง (ambient light) รบกวน
ท างกลุ่มฯ เห็นความสำคัญของดาราศาสตร์และสนับสนุนให้มีการจัดตั้งหอดูดาวแห่งชาติของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์ เพื่อความก้าวหน้าทางดาราศาสตร์ของไทยและของโลก หากแต่ใคร่ขอพิจารณาทางเลือกพื้นที่ในการก่อสร้างที่เหมาะสมในบริเวณอื่นใกล้เคียงแทน อาทิ เช่น บริเวณดอยผาตั้ง และเส้นทางขุนวาง หรือที่อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า จ. พิษณุโลก ที่อาจมีระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลต่ำกว่าเล็กน้อย แต่มีผลกระทบเสียหายต่อระบบนิเวศน้อยกว่าในระยะยาว
บทความโดยอาจารย์หมอหม่อง
http://lannabird.org/nuke/modules.php?name=Forums&file=viewtopic&t=101&postdays=0&postorder=asc&start=0

วันจันทร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2550

ไข้หวัดนกไม่ได้แพร่ตามเส้นทางอพยพของนก แต่แพร่ตามเส้นทางการค้า

การศึกษาเชิงวิพากษ์และกว้างขวางครอบคลุมต่อเอกสารทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับการแพร่ของเชื้อไข้หวัดนกที่ตีพิมพ์เร็วๆนี้ในวารสารของสหภาพนักปักษีวิทยาบริติช (British Ornithologists Union ) เป็นข้อเขียนชื่อ Recent expansion of highly pathogenic avian influenza H5N1: a critical review [Ibis 149(2), 202-214] ได้ข้อสรุปว่า กลไกหลักในการแพร่กระจายในขอบเขตทั่วโลกของเชื้อไวรัสนี้มาจากการค้าสัตว์ปีก หาใช่การอพยพของนกไม่
การศึกษาพบว่า นกอพยพมักจะถูกโทษครั้งแล้วครั้งเล่าว่าเป็นตัวการทำให้เกิดการระบาดของโรคนี้ ทั้งที่ต่อมาพบว่าในความเป็นจริงแล้ว การระบาดมีต้นกำเนิดมาจากการเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกที่ยังมีชีวิตและผลิตผลจากสัตว์ปีก เช่น เนื้อของสัตว์ปีก
ผู้ทำการศึกษาอันได้แก่ Michel Gauther-Clerc, Camille Lebarbenchon และ Frederic Thomas นักนิเวศวิทยาชาวฝรั่งเศสที่ศูนย์วิจัยสำหรับการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำเมดิเตอร์เรเนียน (Station Biologique de la Tour du Valat) และห้องทดลองพันธุกรรมและวิวัฒนาการของโรคติดต่อ (Genetique et Evolution des Maladies infectieuses – GEMI) เตือนว่า การเน้นอย่างผิดทิศผิดทางไปที่การสัมผัสระหว่างนกป่ากับสัตว์ปีกนอกอาคารอาจนำไปสู่การแปรผันไปเลี้ยงสัตว์ปีกอย่างเข้มข้นในอาคาร ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเป็นการเพิ่มความเสี่ยงของการระบาด
องค์การอนุรักษ์นกสากลเบิร์ดไลฟ์ได้แสดงความกังวลต่อการกล่าวโทษอย่างอัตโนมัติทุกครั้งที่มีการระบาดของไข้หวัดนกว่านกป่าน่าจะเป็นพาหะ และกล่าวว่า “ทางการต้องทำงานให้หนักกว่านี้เพื่อให้ได้ภาพที่สมดุล”
ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา การแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนของทั้งองค์การโลกเพื่อสุขภาพสัตว์ (OIE) และองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ(FAO) เน้นไปที่บทบาทของนกอพยพในการแพร่โรคนี้ การเน้นอย่างผิดทิศผิดทางเช่นนี้เกิดขึ้นอีกล่าสุดเมื่อรัฐบาลสหราชอาณาจักรอังกฤษมีท่าทีตอบสนองเบื้องต้นต่อการระบาดที่ฟาร์มโรงงานเบอร์นาร์ดแม็ททิวส์ในจังหวัดซัฟโฟล์คของอังกฤษ
รายงานที่รัฐบาลสหราชอาณาจักรอังกฤษออกตามมายืนยันว่าสาเหตุการติดเชื้อครั้งนี้น่าจะมาจากผลิตภัณฑ์เนื้อที่นำเข้ามาจากประเทศฮังการี ...
จากที่กล่าวไปแล้วในตอนแรกว่าข้อเขียนชื่อ Recent expansion of highly pathogenic avian influenza H5N1: a critical review ในวารสารของสหภาพนักปักษีวิทยาบริติช Ibis ฉบับที่ 149(2) ได้สรุปผลการศึกษาการแพร่กระจายในขอบเขตทั่วโลกของเชื้อไวรัส H5N1 หรือเอดส์ พบว่า กลไกหลักในการแพร่ระบาดนี้คือการเคลื่อนย้ายสัตว์เลี้ยงที่มีปีกและยังมีชีวิตหรือผลิตผลของสัตว์เหล่านี้(เช่น ไข่) หาใช่การอพยพของนกป่าไม่
บทความนี้อธิบายให้เห็นว่า มีการค้นพบไวรัส H5N1 เป็นครั้งแรกที่มณฑลกวางตุ้ง ทางใต้ของประเทศจีนในปี พ.ศ.2539 และมีการติดเชื้อครั้งใหญ่เกิดขึ้นกับไก่ในแปดประเทศในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงเดือนธันวาคม 2546 ถึงมกราคม 2547 ซึ่งนกป่าที่ติดเชื้อเป็นเหยื่อของเชื้อไวรัสที่เคลื่อนย้ายระหว่างนกในประเทศนั้นๆ (คือมิใช่นกอพยพ) อย่างเช่น นกกระจอก นกกางเขน นกยาง และนกล่าเหยื่อที่หากินกับซากสัตว์รอบฟาร์มเลี้ยงสัตว์ปีก
Michel Gauther-Clerc, Camille Lebarbenchon และ Frederic Thomas นักนิเวศวิทยาชาวฝรั่งเศส ผู้ทำการศึกษาชี้ให้เห็นว่า “นกอพยพไม่สนใจขอบเขตประเทศ แต่ไวรัสกลับจำกัดตัวอยู่แต่ในจีนและประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเวลาหลายปี” ถ้านกป่าอพยพเป็นพาหะหลักในการแพร่กระจายไวรัส H5N1 การอพยพในฤดูใบไม้ผลิของปี 2547 และ 2548 น่าจะพาเชื้อไวรัสแพร่กระจายไปแล้ว แต่ความจริงคือว่าไวรัสนี้เริ่มเคลื่อนย้ายไปทางตะวันตกข้ามเอเชียจาก Novosibirsk ในเดือนกรกฎาคม 2548 ซึ่งเป็นเดือนที่นกอพยพปักหลักหากินอยู่กับที่ไม่เคลื่อนย้ายไปไหน และการแพร่เชื้อเกิดขึ้นไปตามเส้นทางการค้าสายหลัก เช่น ทางรถไฟสายทรานส-ไซบีเรีย
รายงานการตรวจพบเชื้อ H5N1 ในทวีปเอเชียล่าสุดสนับสนุนข้อสรุปนี้เป็นอย่างดี นั่นคือมีการพบสัตว์ปีกที่ติดเชื้อในช่วงปี 2549 และต้นปี 2550 ในประเทศเวียดนาม ไทย เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น โดยไม่มีการระบาดเกิดขึ้นในหมู่นกป่า การติดเชื้อในฮ่องกงและปากีสถานก็พบว่ามาจากสัตว์ปีกเลี้ยงเช่นกัน